การทำนิติกรรมบางประเภท กฎหมายได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่าต้องทำตามแบบ มิเช่นนั้นการทำนิติกรรมจะเป็นโมฆะ
ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายกำหนดไว้ใน มาตรา 456 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วรรคแรกตอนต้นว่า “ การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ ”
ดังนั้นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จึงต้องทำเป็นหนังสือละจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงจะมีผลสมบูรณ์ โดยครบทั้งสององค์ประกอบข้างต้น
แล้วอสังหาริมทรัพย์ หมายถึงอะไร ?
อสังหาริมทรัพย์ หมายถึง 1 . ที่ดิน 2 . ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินอันมีลักษณะเป็นการถาวร เช่น บ้าน โกดัง โรงงาน ไม้ยืนต้น 3 . ทรัพย์อันประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน เช่น หิน ดิน ทราย 4 . ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย เช่น กรรมสิทธิ์ในที่ดิน สิทธิครอบครอง ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิจำนอง เป็นต้น
ดังนั้น หากต้องการทำนิติกรรมซื้อขายเกี่ยวกับ ที่ดิน ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวร ทรัพย์อันประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน หรือทรัพย์สิทธิ จึงต้องทำเป็นหหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วางหลักไว้
เอาล่ะ มาเข้าเรื่องกันค่ะ การทำเป็นหนังสือนั้น สิ่งสำคัญคือต้องมีลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย กล่าวคือทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย อย่างเป็นลายลักษ์อักษร แตกต่างกับการมีหลักฐานเป็นหนังสือที่มีเพียงแต่ลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญก็เพียงพอแล้ว
ส่วนการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องมีอำนาจตามกฎหมายในการทำการนั้น ๆ ด้วย เช่น จดทะเบียนโอนที่ดิน ก็ต้องไปจดทะเบียนที่กรมที่ดิน จดทะเบียนสมรส ก็ต้องไปจดทะเบียนที่สำนักงานเขต ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจถือว่าไม่สมบูรณ์ นิติกรรมมีผลเป็นโมฆะ
ตัวอย่างเช่น นาย A ต้องการขายบ้านพร้อมที่ดินให้ นาย B จึงมีการทำสัญญาซื้อขายกันเป็นลายลักษณ์อักษร ลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย และไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่กรมที่ดิน การทำนิติกรรมนี้มีการทำถูกต้องครบทั้งสององค์ประกอบ นิติกรรมซื้อขายนี้จึงสมบูรณ์
บทนิยามของคำว่า อสังหาริมทรัพย์ อ้างอิงจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139
เขียนโดย ทค. ฐิติพร เศวตศิลป์