หลายคนที่เคยกู้เงินกับสถาบันการเงินต่างๆ แล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม สุดท้ายสถาบันการเงินก็จะนำมูลหนี้ของเราเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย หรือฟ้องต่อศาลนั่นเอง แต่การที่เจ้าหนี้จะฟ้องคดีต่อศาลต้องฟ้องภายในอายุความ เรามาดูอายุความฟ้องคดีต่อศาลสักเรื่องนึง คือ “อายุความชำระหนี้ที่ผ่อนเป็นงวดๆ”
หนี้เงินที่เรากู้กับสถาบันการเงินแล้วผ่อนเป็นงวดๆ แล้วถ้างวดใดเราไม่ชำระถือว่าเราเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ อายุความก็จะเริ่มนับตั้งแต่ที่เราผิดนัดชำระหนี้เช่น
เรากู้เงินเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 กำหนดผ่อนชำระเป็นงวดทุกวันที่ 1 ของเดือนถัดไป เช่นนี้เท่ากับว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 คือวันครบกำหนดชำระ ถ้าเราไม่ชำระถือว่าเราเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550
อายุความก็จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไป ซึ่งอายุความการชำระหนี้เป็นงวดๆ กฎหมายกำหนดไว้ ห้าปีนับแต่ผิดนัด ตาม มาตรา 193/33(2) ของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในที่นี้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องคือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ถ้าเกินไปจากนี้ ถือว่าขาดอายุความ เจ้าหนี้ไม่สามารถจะบังคับให้เราชำระหนี้ได้ อนึ่ง เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกา ฎ.2847/2562 ตัดสินไว้
ทั้งนี้การนับอายุความ 5 ปี นั้น จะต้องไม่มีเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง เช่น ตัวอย่างข้างต้น อายุความคือ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2555 ภายในระยะเวลานี้ ถ้าเราชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ หรือ ประนอมหนี้ วันที่ 15 มกราคม 2555 เช่นนี้ถือว่า อายุความได้สะดุดหยุดลง ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2555 แล้ว อายุความเดิมก็เป็นอันสิ้นสุดลง ต้องนับอายุความกันใหม่ตามหลังเกณฑ์ข้างต้น
เขียนโดย ลุงไนท์ ไกรแก้ว